ต้อกระจก เกิดจากความเสื่อมของโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่นและแข็งขึ้น มักพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
สาเหตุ
- ความเสื่อมตามวัย โดยสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น
- กลุ่มอายุน้อยสามารถเป็นได้ เช่น ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดจากมารดาที่ติดเชื้อหัด เยอรมันขณะตั้งครรภ์
- การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน ๆ
- มีโรคประจำตัวที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจกได้ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
- โรคทางตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ สายตาสั้นมาก ๆ เคยผ่าตัดตามาก่อน เช่น หลังผ่าตัดจอตา
- ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน - เคยมีอุบัติเหตุที่ดวงตาหรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนบ่อย ๆ
- การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
- เคยโดนฉายรังสีในส่วนบนของร่างกาย ศีรษะ
อาการ
- มองไม่ชัดอย่างช้า ๆ ไม่มีการอักเสบหรือปวด
- มองเห็นมัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นในเนื้อเลนส์
- ภาพซ้อน สายตาพร่า เกิดจากความขุ่นของเลนส์แก้วตาไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตา จึงไม่รวมเป็นจุดเดียวในผู้ป่วยบางรายจะมีสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย ๆ บางรายสายตาสั้นขึ้นจนกลับมาอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น
- สู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืนมองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมอง
- เมื่อต้อกระจกสุก อาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวตรงรูม่านตา ซึ่งปกติเห็นเป็นสีดำ หากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
การรักษา
ในช่วงแรกของการเป็นต้อกระจก การเปลี่ยนแว่นตาแก้ไขอาจทำให้มองเห็นชัดขึ้นได้บ้าง ยังไม่มียาหยอดตาหรือยารับประทานใด ๆ ที่รักษาต้อกระจกได้ เมื่อเป็นมากขึ้นมองไม่ชัด วิธีการรักษาคือการผ่าตัดเท่านั้น
การผ่าตัดต้อกระจก
-
วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification With Intraocular Lens) วิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน แผลที่กระจกตาเล็กเพียง 3 มม. แพทย์จะสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่ตัวต้อกระจก
ใช้พลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกจนหมด จึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แผลมีขนาดเล็กมาก ไม่ต้องเย็บแผลในคนไข้ส่วนใหญ่ - วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens) วิธีผ่าตัดดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก ๆ จนไม่เหมาะกับการสลายด้วยเครื่อง จักษุแพทย์จะเปิดแผลบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม. เพื่อเอาตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แล้วจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผล
การป้องกัน
- สวมแว่นกันแดด เพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอ อี และซี ช่วยบำรุงสายตา อย่างไรก็ดีการรับประทานวิตามินเสริมยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าลดความเสี่ยงการเกิดต้อกระจกได้
- แนะนำควรตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
อ้างอิง : https://www.bangkokhospital.com/content/cataracts-causes-and-important-factors-to-be-aware-of