โรคตาบอดสี

โรคตาบอดสี

โรคตาบอดสี หรือ color blindness คือ ความบกพร่องทางการมองเห็นสีต่างๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการจำแนกแยกแยะสี โดยแต่ละคนอาจมีลักษณะของตาบอดสีที่แตกต่างกัน เช่น ไม่สามารถมองเห็นสีแดงได้ หรือในบางรายอาจไม่สามารถมองเห็นสีเขียว หรือสีน้ำเงินได้ชัดเจน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถมองเห็นสีใดสีหนึ่งได้ชัดเจน แต่เรื่องของวัตถุ รูปร่าง การมองเห็นภาพ ยังคงชัดเจนเหมือนกับคนปกติทั่วไป จึงทำให้ตาบอดสีไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต เพียงแต่จะเกิดการรบกวนในการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ซึ่งโรคตาบอดสีนี้ มักพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 

สาเหตุ

โรคตาบอดสีเกิดจากความบกพร่องของเซลล์รับรู้การเห็นสี (Photoreceptor) ภายในดวงตา ที่มีการทำงานที่ผิดปกติไป ทำให้สีภาพที่แสดงออกมา มีความผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

การที่เรามองเห็นสีต่างๆ มาจากความยาวคลื่นแสงที่มีขนาดแตกต่างกัน มากระทบเข้าสู่ดวงตาของเรา โดยเซลล์รูปแท่ง (Rod Cell) จะอยู่บริเวณรอบๆขอบจอตา เพื่อทำให้เราสามารถมองเห็นในที่แสงสว่างน้อยๆ ได้ ซึ่งเซลล์นี้จะทำให้มองเห็นเป็นภาพขาว-ดำ

ส่วนเซลล์รูปกรวย (Cone Cell) เป็นเซลล์ที่อยู่อย่างหนาแน่นตรงส่วนกลางของจอประสาทตา ทำหน้าที่ในการมองเห็นสี สีขาว-สีดำ และมองเห็นภาพในพื้นที่ที่มีแสงสว่าง โดยมีอยู่ 3 ชนิด คือ เซลล์รูปกรวยสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ซึ่งหากเซลล์ใดมีการทำงานผิดปกติไป ก็จะทำให้การมองเห็นสีมีความผิดปกติต่างไปจากที่เป็นจริงด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคตาบอดสี

  • อายุที่มากขึ้น จะทำให้เซลล์ต่างๆเกิดการเสื่อมสภาพลง
  • ตาบอดสีพันธุกรรม เป็นสาเหตุที่พบได้ในคนส่วนใหญ่ โดยมักจะพบผู้ที่มีตาบอดสีเขียวและสีแดง
  • โรคทางกาย มีผลกระทบต่อการมองเห็นสีของดวงตา เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม โรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ฯลฯ
  • เกิดอุบัติเหตุกระทบบริเวณดวงตา หรือดวงตาได้รับการบาดเจ็บ เสียหาย
  • ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาต้านอาการทางจิต ยาปฏิชีวนะ
  • สารเคมีบางชนิด เช่น สาร Styrene ในพลาสติกหรือโฟมต่างๆ

ประเภทตาบอดสี

1. ตาบอดสีแดง - เขียว (Red-green Color Blindness)

อาจเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัยว่า ตาบอดสีแดง เห็นสีอะไร? อาการตาบอดสีที่พบบ่อย คือ อาการตาบอดสีแดงและตาบอดสีเขียว โดยผู้ที่มีอาการตาบอดสีประเภทนี้ จะมีความยากลำบากในการแยกระหว่างสีแดงกับสีเขียวออกจากกัน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีลักษณะการมองเห็นสีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเซลล์ Cone ของบุคคลนั้นๆ

ผู้ที่มีเซลล์ Cone สีแดงน้อย (Protanomaly) จะมองเห็นโทนสีแดง สีส้ม สีเหลือง กลายเป็นโทนสีเขียว แต่ถ้าหากขาดเซลล์ Cone สีแดงไป(Protanopia) ก็จะทำให้บุคคลนั้น มองเห็นโทนสีแดงเป็นโทนสีดำ

ส่วนคนที่มีเซลล์ Cone สีเขียวน้อย (Deuteranomaly) ก็จะมีการมองเห็นโทนสีเขียว เป็นโทนสีแดงแทน และถ้าหากขาดเซลล์สีนี้ไป ก็จะทำให้บุคคลนั้นมองเห็นโทนสีเขียวเป็นสีดำไปเลย

2. ตาบอดสีน้ำเงิน - เหลือง (Blue-yellow Color Blindness)

การตาบอดสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน และตาบอดสีเหลือง จะทำให้บุคคลที่ตาบอดสีประเภทนี้ มีความยากลำบากในการแยกแยะสีน้ำเงินกับสีเขียว และสีเหลืองกับสีแดง ซึ่งจะพบคนที่ตาบอดสีประเภทนี้ได้ไม่บ่อยเท่าแบบประเภทแรก และมักเกิดจากโรคต่างๆมากกว่า

คนที่มีเซลล์ Cone สีน้ำเงินน้อย (Tritanomaly) จะเกิดปัญหาเรื่องการแยกแยะสีน้ำเงินกับสีเขียว และสีแดงจากสีม่วง

ส่วนคนที่ไม่มีเซลล์ Cone สีน้ำเงิน (Tritanopia) จะมีปัญหาเกี่ยวกับการแยกสีโทนที่มีสีน้ำเงินและสีเหลืองรวมอยู่ด้วย เช่น การแยกสีน้ำเงินออกจากสีเขียว สีม่วงกับสีแดง และสีเหลืองกับสีชมพู เป็นต้น 

3. ตาบอดสีทั้งหมด (Complete Color Blindness)

ผู้ที่มีอาการตาบอดสีทั้งหมด หรือเรียกอีกอย่างว่า Monochromacy คือ การที่เซลล์รูปกรวย (Cone cell) ทั้งหมดไม่ทำงาน หรือขาดหายไปจากดวงตา ซึ่งปัจจุบัน บุคคลที่เป็นตาบอดสีประเภทนี้พบได้น้อยมาก

สีที่คนตาบอดสีเห็น จะกลายเป็นโทนสีเทาทั้งหมด และสีของภาพอาจมีการมองเห็นสลับสีกัน ได้แก่ ระหว่างสีเขียวกับสีน้ำเงิน สีแดงกับสีดำ สีเหลืองกับสีขาว บางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความไวต่อแสงของดวงตาอีกด้วย

วิธีสังเกตเช็คอาการตาบอดสี

หากใครกำลังสงสัยว่า ตนเองกำลังเข้าข่ายโรคตาบอดสี ลองเช็คอาการดังต่อไปนี้ จะเป็นสัญญาณเตือนในการบ่งบอกถึงโรคตาบอดสี ดังนี้

  • มีความยากลำบากในการแยกสีต่างๆในชีวิตประจำวัน
  • ไม่สามารถจดจำ หรือบอกสีต่างๆได้อย่างถูกต้อง
  • ยังคงมองเห็นสีได้หลากหลายสี เพียงแต่สีที่เห็นมีความแตกต่างไปจากคนอื่น
  • มีการมองเห็นสีที่จำกัดเพียงแค่บางโทนสี
  • ภาพที่มองเห็นมีเพียงแค่ สีขาว สีดำ หรือสีเทา เท่านั้น

แนวทางการป้องกันโรคตาบอดสี

ถึงแม้ว่าตาบอดสีจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือการป้องกันก็อาจทำได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่นัก แต่ก็ยังคงสามารถหาวิธีบรรเทาอาการ หรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวอยู่ในวัยเด็ก อายุประมาณ 3-5 ขวบ ควรพาไปเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองภาวะตาบอดสี และทดสอบสายตาอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนเข้าโรงเรียน
  • เมื่อคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตาบอดสี ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ที่ครอบครัวไม่มีประวัติเป็นโรคตาบอดสี ควรสังเกตตนเองว่ามีการรับรู้สี หรือมีปัญหาสายตาอื่นๆที่ผิดปกติหรือไม่ หากมี ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที
  • หลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมีบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย
  • รักษาโรคต่างๆกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความถูกต้องในกระบวนการรักษา
ข้อมูลจาก : https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/color-blindness#%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B5%20(Color%20Blindness)
Back to blog