ตาแห้งอันตรายมากแค่ไหน?

ตาแห้งอันตรายมากแค่ไหน?

น้ำตาของคนเรามี 3 ชั้น โดยชั้นบนสุดเป็นชั้นไขมัน (Lipid layer) สร้างจากต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา (meibomian glands) ไขมันเหล่านี้ช่วยให้น้ำตาไม่ระเหยเร็ว ชั้นกลางเป็นชั้นน้ำ (aqueous layer) สร้างมาจากต่อมน้ำตาบริเวณเยื่อบุตาและต่อมน้ำตาที่ใต้หางตา (lacrimal gland)  ชั้นนี้มีทั้งน้ำ เกลือแร่ โปรตีน และเอนไซม์ ช่วยหล่อเลี้ยงกระจกตาและทำลายเชื้อโรค ชั้นในเป็นชั้นเมือก (mucous layer)สร้างมาจากต่อมเมือกในเยื่อบุตา (globlet cells) เมือกเหล่านี้ช่วยให้น้ำตาเกาะกับผิวตา

ภาวะตาแห้งเกิดจากปริมาณน้ำตาที่มีไม่พอเพียงกับการหล่อเลี้ยงดวงตา การรบกวนวงจรการผลิตน้ำตาไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนไหน ก็จะมีผลทำให้มีการผลิตน้ำตาลดลง หรือทำให้คุณภาพของน้ำตาที่ผลิตผิดปกติไปทำให้เกิดตาแห้ง 

นอกจากนั้นความผิดปกติของอวัยวะที่สร้างอีก 2 ชั้นของน้ำตา เช่น การอักเสบ หรือโรคของต่อมไขมัน เปลือกตา, เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรังในกลุ่มอาการสตีเวนจอห์นสัน จะทำให้ชั้นไขมัน และชั้นเมือกของน้ำตาผิดปกติไปด้วย ทำให้มีอาการของตาแห้งได้

พบภาวะตาแห้งได้มากขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากโลกเปลี่ยนไป สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน และพฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ปัจจัยที่มีผลทำให้ผู้คนมีอาการตาแห้งได้มากขึ้น การใส่คอนแทคเลนส์มากขึ้น มลพิษ  ในอากาศทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ของตา เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่คอมพิวเตอร์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้คนนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ

อาการคนที่เป็นตาแห้ง จะรู้สึกแห้ง ร้อน แสบ เคืองเหมือนมีอะไรในตา ไม่อยากลืมตา บางคนมีอาการ คัน หรือมีน้ำตาไหล ลืมตาไม่ได้นานต้องหลับตาหรือกระพริบตาบ่อยๆ หรือมองเห็นภาพไม่ชัด มักจะเป็นกับตาทั้งสองข้าง และเป็นมากในตอนบ่าย หรือเย็น หรือหลังจากการใช้สายตามากๆไปช่วงหนึ่ง ในการวัดสายตา จะพบว่าเดี๊ยวชัดเดี๊ยวเบลอ กระพริบแล้วจะชัดในช่วงแรก ยิ่งตาแห้งมากกระจกตาบางลงบางคนอาจถึงขั้นกระจกตาทะลุได้ 

การป้องกันอาการตาแห้ง

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมการใช้สายตาเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์  แนะนำให้พักสายตาระหว่างทำงานบ้าง โดยเมื่อทำงานไป 20 นาที พักสายตา 20 วินาที โดยมองที่ระยะไกล 20 ฟุต
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ                                                             
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีแดด ลม ฝุ่นเข้าตา หรือในที่มีความชื้นต่ำ หรือ สวมแว่นป้องกันแสงแดดและลมพัดเข้าตา                                     
  • หลีกเลี่ยงการใช้คอนแทคเลนส์ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ ใส่คอนแทคเลนส์เฉพาะที่จำเป็น ไม่ควรเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หยุดพักใส่แว่นบ้างในวันหยุด                                                             
  • การเสริมน้ำตา โดยการหยอดน้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้น
  • ระวังผลจากยาบางชนิดที่รับประทานเป็นประจำ เช่น ยาแก้ภูมิแพ้ ยารักษาสิวบางชนิด การรักษาโรคทางกายอื่นๆ ที่ส่งผลต่อตาแห้ง

การรักษาโรคตาแห้ง

  • การเสริมน้ำตาโดยการหยอดน้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้น 
  • การอุดท่อทางออกของน้ำตา (punctum) เพื่อให้น้ำตาคงเหลือในตามากขึ้น โดยการจี้ความร้อนหรือการใส่ปลั๊กอุด
  • การรักษาโรคทางกายอื่นๆ ที่ส่งผลต่อตาแห้ง
  • การรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่มีสัดส่วนของไขมันจำเป็นชนิด omega-3 สูง เช่น fish oil, flaxseed oil
  • การปรับเปลี่ยนกิจวัตร เช่น นอนพักผ่อนมากขึ้น ลดการใช้สายตาลง การสวมแว่นกันลม เป็นต้น
  • การกระตุ้นการผลิตน้ำตาโดยใช้ยาบางชนิด
Back to blog