สายตายาว (Hyperopia) กับช่วงอายุ

สายตายาว (Hyperopia) กับช่วงอายุ

สายตายาว (Hyperopia) คือ ปัญหาความบกพร่องทางสายตา ที่ไม่สามารถมองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่กลับมองเห็นภาพในระยะไกลๆได้ชัดเจนปกติ หรือแม้กระทั่งบางรายอาจมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน ทั้งในระยะใกล้ๆหรือระยะไกลก็ตาม 

โดยในทางการแพทย์ ปัญหาสายตายาว มักจะเป็นชื่อเรียกสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตายาว ตั้งแต่ช่วงอายุที่ยังไม่ถึงวัยผู้สูงอายุ ส่วนผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเรียกว่าเป็น สายตายาวตามอายุ (Presbyopia) แต่ถ้าหากผู้ที่เป็นตั้งแต่เด็กๆ หรือแรกเกิด จะเรียกว่า สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness)

สาเหตุ

สายตายาว เกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งน้อยจนเกินไป หรือกระบอกตามีขนาดสั้นจนเกินไป ทำให้เมื่อแสงเข้าสู่ดวงตา การหักเหของแสงจึงน้อยลง ส่งผลให้จุดรวมแสงตกกระทบที่ด้านหลังจอประสาทตา เหมือนดั่งรูปด้านขวา (Hyperopia) วัตถุในระยะใกล้จึงมองเห็นเบลอกว่าวัตถุระยะไกลๆ

โดยส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดจากลักษณะทางพันธุกรรม หากมีบุคคลในครอบครัวประสบกับปัญหาสายตายาว ก็มีโอกาสที่คุณจะมีปัญหาสายตายาวด้วยเช่นเดียวกัน 

นอกจากนั้น เรื่องของสุขภาพก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่สามารถส่งผลให้เกิดปัญหาสายตายาวได้ เช่น โรคเบาหวาน การเป็นมะเร็งรอบดวงตา โรคตาเล็ก (Microphthalmia) เป็นต้น แต่สาเหตุนี้ มักพบได้ไม่มากนัก

สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness)

สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness) เป็นปัญหาสายตายาวที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก และมักจะเป็นโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากวัยเด็ก เป็นวัยที่กล้ามเนื้อตามีความยืดหยุ่นได้ดี ทำให้มีส่วนช่วยในการเพ่งสายตา จึงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อภาพที่เห็นมากนัก แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น กล้ามเนื้อตาค่อยๆ เสื่อมลง ทำให้อาการสายตายาวโดยกำเนิด ค่อยๆปรากฏออกมาชัดเจนยิ่งขึ้น แน่นอนว่า เด็กอาจไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าคืออะไร ผิดปกติหรือไม่ และไม่สามารถสื่อสารหรืออธิบายออกมาได้ดีเพียงพอ ดังนั้น ผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจและสังเกตพฤติกรรมเด็กอยู่เสมอ 

หากเด็กมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น มีอาการคล้ายตาเข เมื่ออ่านหนังสือ เขียน หรือวาดภาพไปสักระยะหนึ่งแล้ว เริ่มมีอาการปวดหัว ปวดตา ตาล้า ขาดความสนใจในการทำสิ่งต่างๆ หรือขยี้ตาบ่อยๆ ก็ควรเข้ารับการตรวจตา เพื่อวินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้น

สายตายาวตามวัย (Presbyopia)

สายตายาวตามวัย (Presbyopia) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สายตายาวตามอายุ เป็นความบกพร่องทางสายตาที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตาเริ่มเสื่อมสภาพลง ทำให้เลนส์ตาแข็งตัวมากขึ้น ความยืดหยุ่นต่างๆลดลง ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการมองวัตถุระยะใกล้ๆ เช่น การเย็บผ้า เขียนคิ้ว ขับรถยนต์ เป็นต้น 

คุณสามารถสังเกตตนเองได้จาก ระยะของการอ่านหนังสือเบื้องต้น หากในระยะเดิมเริ่มมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ต้องมีการยื่นวัตถุให้ห่างจากตนเองออกไปมากขึ้น หรือพยายามเพ่งอย่างหนักจึงจะเห็นได้ชัดเจน หรือแม้กระทั่งการต้องถอดแว่นสายตาสั้น เพื่อมองในระยะใกล้ๆ ก็อาจเป็นสัญญาณว่า คุณกำลังมีภาวะสายตายาวตามวัยแล้วนั่นเอง

อาการสายตายาว

  • ปวดศีรษะ ปวดตา จำเป็นต้องหรี่ตา หรือตาล้าง่าย เนื่องจากต้องทำงานในระยะใกล้ๆ
  • มองเห็นภาพซ้อน เพราะต้องเพ่งสายตาในการมองวัตถุอย่างหนัก
  • ตามีความไวต่อแสงมากขึ้น ทำให้ตาสู้แสงไม่ได้ หรือเกิดอาการแสบตา
  • มีความยากลำบากในการมองเห็นตอนกลางคืน
  • ผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก อาจมีอาการตาเหล่ ตาเขร่วมด้วย เพราะต้องเพ่งสายตาตลอดเวลา
  • ปัญหาสายตายาวในเด็ก อาจทำให้มีอาการขยี้ตาบ่อยครั้ง หรือมีปัญหาในการอ่านหนังสือได้
  • มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านหนังสือ เย็บผ้า ขับรถยนต์ แต่งหน้า ทำอาหาร ฯลฯ

วิธีรักษาแก้ไขสายตายาว

  • การใส่แว่นสายตา
  • การใส่แว่นสายตา เป็นวิธีรักษาสายตายาวที่สามารถทำได้ง่ายๆ อีกทั้งยังมีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูงมากในการใช้งาน ซึ่งคุณสามารถทำได้ เพียงแค่ตรวจวัดสายตา จากนั้นนำค่าสายตา หรือค่าเลนส์ที่สามารถแก้ไขความผิดปกติในการหักเหแสงได้ มาตัดแว่นสายตาที่เหมาะสมกับตนเอง

    ข้อดีของวิธีนี้ คือ สามารถเป็นตัวช่วยในการหักเหแสงให้ตกกระทบที่จอประสาทตาพอดี ทำให้เวลาใส่แว่นตา คุณจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนดั่งปกติ และการตัดแว่นสายตา เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย สามารถเลือกรูปทรงหรือสีต่างๆได้ตามใจชอบ ตามกระแสแฟชั่นได้

    ข้อจำกัด คือ ต่อให้มีการตัดแว่นมาใช้งานแล้ว ก็ยังต้องมีการตรวจเช็คค่าสายตาเป็นระยะ เพราะจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนแว่นสายตาให้เหมาะสมกับปัจจุบัน อีกทั้งการใส่แว่นสายตานั้นไม่ได้เป็นตัวช่วยที่ทำให้สายตาดีขึ้น และบางครั้งอาจไม่เหมาะสำหรับกิจกรรมบางอย่าง เช่น การเล่นกีฬาต่างๆ การเต้น การว่ายน้ำ เป็นต้น

    เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความปลอดภัย ราคาไม่แพงมาก สามารถถอดแว่นสายตาเข้า-ออกได้ตามใจชอบ  

  • การใส่คอนแทคเลนส์
  • การเลือกใส่คอนแทคเลนส์ อันดับแรกเราจะต้องรู้ค่าสายตาของตนเองเสียก่อน จากนั้นเราจึงนำค่าที่ได้ ไปเป็นตัวอ้างอิงในการเลือกซื้อ ซึ่งปกติแล้ว รูปแบบคอนแทคเลนส์ มีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่ คอนแทคเลนส์แบบแข็ง แบบนิ่ม คอนแทคเลนส์รายวัน รายเดือน เป็นต้น

    ข้อดี คือ สามารถเข้ามาช่วยทำหน้าที่แทนแว่นสายตาในบางกรณีที่ไม่สามารถสวมใส่ได้ เช่น การเล่นกีฬา การเต้น หรือการออกงานสังคมต่างๆ อีกทั้งยังมีสีสันสวยงาม หาซื้อได้ตามทั่วไป

    ข้อจำกัด การใส่คอนแทคเลนส์ไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้สายตาของคุณดีขึ้นเช่นเดียวกัน และต้องพยายามปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์ หรือเงื่อนไขต่างๆอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย เช่น ความสะอาด หรือ ระยะเวลาการใช้งาน และต้องระวังในเรื่องของการติดเชื้อของดวงตาอีกด้วย

    เหมาะสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ ต้องการทำกิจกรรมอย่างสะดวก ไม่ชอบใส่แว่นสายตา เป็นต้น

  • การรักษาสายตายาวโดยการผ่าตัด
  • การรักษาสายตายาวด้วยวิธีการผ่าตัด จะต้องผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของรูปแบบการผ่าตัดที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งรูปแบบการผ่าตัดจะมีดังต่อไปนี้

    Femto LASIK

    การทำ Femto LASIK สามารถแก้ปัญหาสายตายาวโดยกำเนิดได้ ด้วยการใช้เครื่อง femtosecond laser รุ่น Visumax ในการยิงแสงเลเซอร์ที่มีความถี่สูง พลังงานต่ำ ไปตามความโค้งของกระจกตาอย่างแม่นยำ

    ข้อดี คือ มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ระยะเวลาในการผ่าตัดไม่นาน ผลข้างเคียงน้อย สามารถกำหนดความลึก หรือความหนาของชั้นกระจกตาได้

    ข้อจำกัด แพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัด จะต้องมีความเชี่ยวชาญวิธีการนี้อย่างเพียงพอ หลังจากทำแล้วต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดมีลักษณะโค้งยาว อาจมีโอกาสที่จะเคลื่อนจนแผลเปิดได้ 

    เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี กระจกตามีความแข็งแรง สุขภาพตาโดยรวมดี ไม่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกระจกตา หรือโรคทางกายที่มีผลต่อการหายของแผล และผู้ที่ไม่สะดวกในการใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์

    Microkeratome LASIK

    การทำเลสิควิธีนี้ สามารถแก้ไขปัญหาสายตายาวโดยกำเนิดได้ โดยวิธีการก็คือ จะมีการใช้ใบมีดแยกชั้นกระจกตาก่อน จากนั้นจึงใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer laser) ปรับแต่งรูปร่างความโค้งของกระจกตาตามที่ได้มีการคำนวณไว้ เมื่อทำได้อย่างที่ต้องการแล้ว จึงปิดกระจกตากลับสู่ที่เดิม

    ข้อดี ของ Microkeratome LASIK คือ เกิดการระคายเคืองน้อย มีความแม่นยำสูง ปลอดภัย ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก กลับมามองเห็นชัดเจนได้อย่างรวดเร็ว

    ข้อจำกัด คือ อาจเกิดอาการตาแห้งได้มากกว่ารูปแบบอื่นๆ บางรายมีอาการไวต่อแสง ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาบาง และวิธีนี้จะเข้าผ่าตัดซ้ำได้ยาก หากค่าสายตามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น 

    เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาหนาเพียงพอ ค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี ได้รับการตรวจประเมินแล้วว่ามีสุขภาพตาโดยรวมดี และมีค่าสายตาไม่มากนัก

    ข้อมูลจาก : https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/hyperopia 

    Back to blog